Kuu-Mu
โรคหัดระบาด สิ่งที่คุณแม่ควรรู้
ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะเห็นข่าวการแพร่ระบาดของโรคหัด ซึ่งครั้งนี้พบที่ภาคใต้และพบเด็กเสียชีวิตแล้ว 5 รายและมีเด็กที่ป่วยอีกจำนวนมาก วันนี้น้องวาฬคูมุจะมาสรุปกันให้ฟังนะคะว่าโรคนี้เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร การติดต่อสู่ผู้อื่น กลุ่มเสี่ยง การรักษา การปฏิบัติตัว รวมถึงวิธีการป้องกันเพื่อที่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้เตรียมรับมือกับโรคนี้ได้อย่างเหมาะสมค่ะ


โรคหัดเกิดจากอะไร?
โรคหัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัสในกลุ่มพารามิคโซไวรัส พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ ช่วงอายุ 1-6 ปี ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน แต่โรคนี้พบได้ในทุกวัย ผู้ใหญ่ก็เป็นโรคนี้ได้ สิ่งสำคัญของโรคนี้คืออันตรายจากการเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคหัดมีอาการอย่างไร?
หลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเข้าไป จะมีระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 14 วัน โดยจะสังเกตเห็นผื่นเกิดขึ้น อาการทั่วไปของโรคหัด มีดังนี้
ระยะแรก: ตัวร้อน มีไข้สูง ซึ่งอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส โดยพบว่าผู้ป่วยจะมีไข้ประมาณวันที่ 10 ถึง 12 นับจากสัมผัสเชื้อ และจะเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ตาแดง ตาเยิ้มแฉะ และจะสังเกตเห็นจุดสีขาวเล็กๆ ขอบสีแดงขึ้นที่กระพุ้งแก้มในบริเวณติดกับฟันกราม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคเรียกว่า ตุ่มโคปลิค อาการอื่นๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอยู่ประมาณ 2-4 วัน ก่อนที่จะเริ่มขึ้นผื่น
ระยะออกผื่น: ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้น แบบนูนแดงหรืออาจขึ้นติดๆ กันเป็นปื้นใหญ่ๆ โดนจะเริ่มขึ้นที่ใบหน้าก่อน บริเวณหน้าผาก ขอบผม หรือหลังใบหู แล้วจะค่อยๆกระจายไปตามลำคอ ลำตัว แขนขา ผื่นแบบนี้จะไม่คัน และผื่นจะอยู่ประมาณ 5-6 วันโดยสีจะเข้มขึ้น และจะค่อยๆ หายไปเอง แต่ใช้เวลานานประมาณ 2 สัปดาห์

โรคหัดติดต่อได้โดยวิธีไหน?
โรคหัดเป็นโรคติดต่อ ซึ่งการแพร่ของเชื้อเกิดได้รวดเร็วและง่ายมากผ่านทางอากาศ จากการไอ หรือจาม หรือ การสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย จากการพูดคุยในระยะใกล้ชิด ซึ่งเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย จะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจก่อนแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ช่วงระยะเวลาที่มีการแพร่เชื้อ คือ ช่วง 4 วันก่อนและหลังขึ้นผื่น

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ ได้แก่
- เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค
- สตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีน อาจเกิดความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งภูมิคุ้มกันบกพร่อง

โรคหัด มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับกำจัดเชื้อไวรัสหัดโดยตรง อาศัยวิธีดูแลแบบประคับประคองตามอาการ ได้แก่
- ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- เช็ดตัวเพื่อลดไข้, ให้ยาลดไข้
- ให้ยาอื่นๆ ตามอาการอื่นๆที่เป็น ตามการพิจารณาของแพทย์

เมื่อเป็นโรคหัดแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
ไม่ควรออกไปไหน ควรอยู่ที่บ้าน เป็นเวลาอย่างน้อย 4 วันหลังจากเริ่มขึ้นผื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

โรคหัด มีวิธีการป้องกันอย่างไร?
อับดับแรกให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหัด และควรได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งคำแนะนำจากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยประจำปี 2561 กำหนดให้ต้องได้รับวัคซีน 2 ครั้ง โดยเข็มแรกให้เมื่อทารกอายุ 9-12 เดือน โดยจะเป็นวัคซีนรวมสำหรับ หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม หรือที่เรียกว่าวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) และเข็มที่ 2 เมื่ออายุครบ 2 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคหัดน้อยอาจจะฉีดเข็มแรกหลังทารกอายุครบ 12 เดือนไปแล้ว และเข็มที่ 2 เมื่ออายุครบ 2 ปี 6 เดือนจนถึง 4 ปี ทางคุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษากับคุณหมอเพื่อให้ได้รับวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อยต่อไปนะคะ
ยังไงช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตและระวังไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ หากครอบครัวไหนมีน้องเป็นโรคหัดอยู่ขอให้หายไวๆนะคะ วันนี้น้องวาฬคูมุขอลาไปก่อนนะคะ โอกาสหน้าจะมานำเสนอเรื่องที่น่าสนใจใหม่ค่ะ ขอบคุณมากค่า