Kuu-Mu
คุณแม่ต้องรู้! ไข้สูงเท่าไหร่? ต้องรีบพบหมอ
Updated: Feb 18, 2018

สวัสดีคุณแม่ คุณพ่อ ทุกท่านนะคะ ^^ วันนี้เราจะมาดูกันว่า หากน้องมีไข้ ไข้สูงเท่าไหร่ที่ต้องรีบพาไปพบคุณหมอนะคะ แต่ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่าวิธีวัดไข้ลูกน้อยสามารถใช้วิธีไหนได้บ้างตามข้อมูลที่ทาง คูมุ จัดหามาให้เลยค่า

ในเด็กอายุน้อยๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 3 เดือน แนะนำวิธีวัดไข้โดยเหน็บก้นเนื่องจากจะได้ค่าที่แม่นยำมากที่สุดค่ะ พอน้องโตขึ้นมาหน่อยตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึงประมาณ 4 ขวบ สามารถวัดไข้โดยวิธีเหน็บก้นได้เหมือนเดิม หรือ อาจวัดทางรักแร้ หรือ ทางรูหู (ตั้งแต่ประมาณ 6 เดือน ขึ้นไป) แต่ถ้าน้องโตขึ้นมาอีกหน่อยตั้งแต่อายุ 4 ขวบ สามารถวัดไข้ทางรักแร้ รูหู และทางปากได้ การวัดทางปากในเด็กที่อายุน้อยกว่านี้ไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ เนื่องจากลูกน้อยยังไม่รู้และกัดเทอร์โมมิเตอร์ได้ การวัดอุณหภูมิสามารถวัดโดยใช้วิธีไหนก็ได้ตามที่คูุมุลิสต์มาให้ แต่หากไม่ค่อยแน่ใจในผลลัพธ์เท่าไหร่แนะนำว่า ให้ลองวัดโดยเหน็บก้นดูจะได้ค่าที่แม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการวัดแบบอื่นๆ เช่น แบบอินฟราเรทยิงหน้าผาก หรือ แบบแผ่นแปะหน้าผากวัดอุณหภูมิ ก็สามารถใช้ได้ ส่วนเรื่องข้อจำกัดหรือช่วงอายุที่สามารถใช้ได้อาจต้องพิจารณาจากคู่มือการใช้งานของเทอร์โมมิเตอร์แต่ละยี่ห้อไปค่า
การเลือกเทอร์โมมิเตอร์ที่จะใช้วัดในเด็กเล็ก แนะนำเป็นแบบดิจิตอลจะสะดวกและปลอดภัยกว่าแบบปรอทเนื่องจากอาจแตกได้ ซึ่งสารปรอทก็เป็นสารพิษ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้
หลักทั่วๆไปในการวัดไข้
- ก่อนวัดไข้ ทำความสะอาดเทอร์โมมิเตอร์โดยใช้น้ำสบู่อุ่นๆ จากนั้นล้างออกให้สะอาดด้วยน้ำเย็น
- ไม่ห่อตัวลูกน้อยแน่นจนเกินไปก่อนที่จะวัด
- ไม่วัดไข้หลังจากเพิ่งอาบน้ำเสร็จทันที ควรรอสักชั่วโมงแล้วค่อยวัดไข้
- ไม่ปล่อยให้ลูกน้อยอยู่คนเดียวระหว่างที่วัด
- แยกให้ชัดเจนว่าเป็นเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดทางก้น เพื่อจะได้ไม่สับสน และเผลอเอาไปวัดทางปาก
- หลังจากวัดเสร็จ ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ หรือ ล้างด้วยน้ำสบู่
อุณหภูมิร่างกายปกติควรเป็นเท่าไหร่?

การวัดอุณหภูมิแต่ละตำแหน่ง ค่าที่วัดได้จะแตกต่างกัน ทั่วไปอุณหภูมิที่วัดได้ในเวลาเดียวกันจะสูงสุดเมื่อวัดทางก้น รองลงมาคือ การวัดทางปาก หู และรักแร้ตามลำดับ ซึ่งช่วงอุณหภูมิปกติเมื่อวัดแต่ละตำแหน่งเป็นดังนี้: ก้น (36.6-38 C), รักแร้ (34.7-37.3 C), ทางรูหู (35.8-38.0 C) และทางปาก (35.5-37.5 C)
เมื่อไหร่ถึงเรียกว่ามีไข้?

หากอุณหภูมิที่วัดได้เท่ากับหรือสูงกว่าค่าที่แสดงบนรูปด้านบนนี้ เรียกว่า มีไข้ แล้ว
แล้วเมื่อไหร่ถึงต้องรีบพบหมอ?

1. ทารกไม่ถึง 3 เดือน: มีไข้ 38 C หรือสูงกว่า โดยวัดทางก้น ให้รีบพบคุณหมอ ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะดูไม่ได้ป่วย เนื่องจากเด็กในช่วงอายุนี้จะป่วยได้ง่ายมากๆ

2. อายุ 3-6 เดือน: มีไข้ 38.8 C หรือสูงกว่า ให้รีบพบคุณหมอ ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะดูไม่ได้ป่วย

3. อายุ 6 เดือนขึ้นไป: มีไข้ตั้งแต่ 38.8 จนถึง 39.4 C ให้ลองสังเกตอาการดูก่อน หากไข้สูงนานต่อเนื่องเกิน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าไข้เกิน 39.4 C ถึงแม้ลูกน้อยจะดูสบายดีแต่ก็ควรพาไปพบคุณหมอ
ช่วยลดไข้ลูกน้อย ทำอย่างไร?
1. ต้องได้รับน้ำเพียงพอ เนื่องจากเวลามีไข้ ลูกน้อยจะอยู่ในภาวะขาดน้ำได้ง่าย ต้องสังเกตอาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำ เช่น ดูกระหายน้ำมากขึ้น, ปากแห้ง, กระวนกระวาย, ซึม เป็นต้น

2. พักผ่อนให้เพียงพอ

3. ปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นสบาย ไม่ร้อนอ้าวและหนาวจนเกินไป อุณหภูมิกำลังพอเหมาะสบายตัว

4. ให้สวมใส่ชุดนอนที่เนื้อผ้าบางเบาสบายตัวหน่อย ถ้าชุดที่ใส่หนาเกินไปจะกักความร้อนไว้กับตัว ระบายออกยาก ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

5. หากมีอาการหนาวสั่น ให้ห่มผ้าเพิ่ม และเมื่อหายหนาวสั่นแล้ว ให้เอาผ้าที่ห่มเพิ่มออก

6. เช็ดตัวลดไข้ ช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดี ใช้น้ำธรรมดา หรือถ้ารู้สึกหนาวอาจใช้น้ำอุ่น ใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาดๆ เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้าก่อนไล่มาตามลำคอ รักแร้ และตามลำตัว ระหว่างที่เช็ดไปเรื่อยๆหากผ้าเริ่มอุ่นขึ้น ให้ชุบน้ำใหม่หรือเปลี่ยนใช้ผ้าผืนใหม่มาเช็ดต่อ เวลาเช็ดมือเช็ดแขนให้ไล่จากส่วนปลายขึ้นมาส่วนต้นแขน ช่วยเปิดรูขุมขนให้ความร้อนระบายออกได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเวลาเช็ดส่วนขาให้เริ่มจากส่วนปลายย้อนขึ้นมาทางต้นขา บริเวณที่ควรเอาผ้าชุบน้ำวางไว้เพื่อช่วยระบายความร้อน ได้แก่ หน้าผาก คอ รักแร้ ตามขาหนีบ และข้อพับ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงเยอะ แต่ละครั้งที่เช็ดควรใช้เวลาประมาณ 15 นาที

7. หากมีความจำเป็น สามารถทานยาลดไข้ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง

ทั้งนี้ไข้เป็นอาการแสดงของความเจ็บป่วย แต่ไม่ได้จำเป็นว่าจะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป เพราะการมีไข้แสดงว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคอยู่ ทั่วไปแล้วในเด็กอายุเกิน 6 เดือน หากดื่มน้ำเพียงพอ นอนหลับเพียงพอ และไม่ซึม เล่นได้ปกติ ทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องได้รับยาลดไข้
ตอนนี้ คุณแม่ คุณพ่อ ก็ทราบวิธีการวัดไข้ที่ใช้ในเด็กแต่ละช่วงอายุ อุณหภูมิร่างกายปกติ อุณหภูมิที่แสดงว่ามีไข้ เมื่อมีไข้เท่าไหร่ควรต้องพบหมอ และวิธีการในการจัดการกับไข้เบื้องต้นแล้ว ทางทีมงานคูมุจะช่วยกันสรรหาสาระดีๆมานำเสนอให้กับคุณพ่อคุณแม่เรื่อยๆนะคะ ฝากติดตามด้วยค่าาา ^^
#Kuu-muทิชชู่เปียกน้ำเกลือคุณภาพ