Kuu-Mu
7 ประเภทอาหารที่ "เจ้าตัวเล็ก" ควรหลีกเลี่ยง

#เรื่องกินเรื่องใหญ่! เชื่อว่าหนึ่งในเรื่องกังวลใจของเหล่าคุณแม่มือใหม่ ที่เพิ่งมีเจ้าตัวน้อยก็คือ ‘อาหารชนิดใดบ้างที่ลูกยังกินไม่ได้’ จะป้อนอะไรให้ที คิดแล้วคิดอีก เพราะร่างกายทารกและเด็กเล็ก ยังไม่มีภูมิต้านทานเต็มที่ ยิ่งในช่วงขวบปีแรก ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะพัฒนาการด้านการกลืน การเคี้ยวยังไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ ให้ผิดก็กลัวลูกจะเป็นอันตรายอีก :(
วันนี้พี่วาฬคูมุ จึงรวบรวมข้อมูลมาฝากว่า มีอาหารประเภทใดที่ไม่เหมาะกับเด็กเล็ก(อายุต่ำกว่า 2 ขวบ) คุณแม่ทั้งหลายควรหลีกเลี่ยงบ้าง เราไปดูกันเลยค่ะ

1. อาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น ไส้กรอก เบคอน แคร็กเกอร์
เด็กเล็กๆ ไม่ควรกิน ‘เกลือ’ มากเกินไปค่ะ เพราะจะทำให้ไตของลูกทำงานหนัก เป็นอันตรายต่อไตได้ ไม่ควรเหยาะ หรือเติมเกลือในอาหาร หรือน้ำซุป ควรเลี่ยงซุปก้อน/น้ำสต็อกที่มีส่วนผสมของเกลือสูง และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัดๆ เช่น ไส้กรอก เบคอน หรือแคร็กเกอร์โรยเกลือ คุณแม่ควรให้อาหารรสอ่อน ปรุงรสตามธรรมชาติจะดีที่สุดนะคะ ^_^

2. เนื้อสัตว์ ชีส หรือผลไม้ชิ้นใหญ่
‘ อาหารชิ้นใหญ่ ‘ ไม่เหมาะกับปากของเด็กที่มีขนาดเล็ก อาจทำให้เด็กกลืนแล้วสำลัก ติดคอ คุณแม่ควรหั่นชิ้นเนื้อสัตว์ ชีส หรือผลไม้เป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดไม่เกินปลายนิ้วมือ หรือฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำมาป้อนลูก และควรเลี่ยงผลไม้ขนาดเล็กที่มีเมล็ดอยู่ด้านใน เพราะเสี่ยงที่เมล็ดจะติดคอเด็กได้ เช่น องุ่น แตงโม ส้ม ( ถ้าจะให้กิน ควรแคะเมล็ดออกให้หมดก่อนนะคะ >< )

3. ขนมหวาน ช็อกโกแลต น้ำอัดลม น้ำผลไม้
ขนมหวานทุกชนิดจะมีส่วนผสมของ ‘น้ำตาล’ สูง เสี่ยงต่อการที่ลูกจะเป็นโรคอ้วนและฟันผุ โดยเฉพาะขนมหวานที่มีลักษณะเหนียว เคี้ยวยาก เช่น คาราเมล ตังเม หรือขนมชิ้นเล็กๆ เหนียวๆ เช่น เยลลี่ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง อย่าเพิ่งให้ลูกกินจะดีที่สุด รวมถึงน้ำอัดลม น้ำผลไม้ต่างๆ ด้วยนะ เพราะน้ำเหล่านี้ก็มีน้ำตาลแฝงอยู่เยอะเช่นกัน! อีกทั้งไม่ควรให้ลูกกินช็อกโกแลต เพราะมีส่วนผสมของ ‘คาเฟอีน’ และ ‘น้ำตาล’ ที่อันตรายต่อเด็กเล็กค่ะ

4. เนยถั่ว และถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์
แม้ ‘ เนยถั่ว ‘ จะเป็นอาหารคลีนของผู้ใหญ่ มีโปรตีนสูง แต่ข้อเสียคือมีความเหนียว จึงอันตรายต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเสี่ยงที่กินแล้วจะติดคอ หรือสำลัก จึงไม่ควรให้เด็กเล็กกิน รวมถึง ‘ถั่วทุกชนิด’ เช่น ถั่วลิสง ถั่วอัลมอนด์ ไม่ควรให้เด็กกินก่อนอายุ 5 ขวบ เพราะถั่วมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ เด็กอาจกลืนลงไปโดยไม่เคี้ยว ทำให้สำลักได้ หากต้องการให้กิน ควรบดหรือป่นให้ละเอียดเสียก่อน *หากคนในครอบครัวมีประวัติแพ้ถั่ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ลูกกินด้วยนะคะ*

5. อาหารที่มีส่วนผสมของ ‘ไข่ดิบ’ เช่น มายองเนส ไอศกรีม
คุณแม่หลายๆ คนมักให้ลูกกิน ‘ไข่’ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ราคาถูก หาซื้อง่าย โดยปกติแล้ว เด็กจะกินไข่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ต้องดูให้ดีว่าไข่นั้นปรุงสุกแล้วหรือยัง เพราะกระเพาะของเด็กเล็กยังไม่พร้อมย่อยอาหารที่กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือดิบ หากกินแล้วลูกน้อยอาจเกิดอาการท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมของ ‘ไข่ดิบ’ เช่น มายองเนส ไอศกรีม น้ำสลัด เป็นต้น

6. ผักดิบ ผักสด
เมื่อเด็กเล็กอายุครบ 6 เดือน จะเริ่มบดเคี้ยวอาหาร รวมถึงผักชนิดต่างๆ ได้แล้ว แต่ต้องเป็นผักที่ปรุงสุกแล้ว และมีความอ่อนนุ่ม บดง่าย เคี้ยวง่าย เช่น ถั่วต้ม แครอทต้มให้นุ่ม คุณแม่ไม่ควรให้ลูกกินผักดิบๆ ผักสดกรอบๆ ที่ต้องใช้ฟันเคี้ยวแรงๆ เช่น ผักกาดขาว แตงกวา เพราะลูกอาจสำลักได้ อีกทั้งกระเพาะของเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ ยังอ่อนอยู่ ย่อยสาร Nitrates หรือสารกันเสียในผักไม่ได้ อาจทำให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายเด็กผิดปกติ หนักสุดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย! :(

7. น้ำผึ้ง
คุณแม่หลายคนคิดว่า ‘น้ำผึ้ง’ มีรสหวานจากธรรมชาติ ไม่น่าจะมีอันตราย แต่น้ำผึ้งก็คือของดิบ แม้โอกาสจะน้อย แต่ก็เป็นไปได้ที่น้ำผึ้งจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่เช่นกัน เช่น เชื้อแบคทีเรียที่เป็นพิษต่อลำไส้เด็กเล็ก ทำให้ท้องผูก ท้องอืด วิงเวียน อาหารเป็นพิษ ร้ายแรงสุดก็ถึงขั้นเป็นอัมพาต (infant botulism) ซึ่งมักเจอในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ดังนั้นถ้าอยากให้กินน้ำผึ้ง คุณแม่ควรรอให้เด็กอายุครบ 1 ขวบขึ้นไปเสียก่อน และอย่าให้กินเยอะเกินไป เพราะน้ำผึ้งมีน้ำตาลสูง ทำให้ฟันผุได้ค่ะ

8. แป้งสาลี
ในเด็กทารก หรือเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ภูมิคุ้มกันในลำไส้ ระบบทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง น้ำย่อยและเอนไซม์ต่างๆ ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในแป้งสาลีจะมีส่วนผสมของ ‘กลูเต็น’ ที่เด็กเล็กยังย่อยไม่ได้ หากคุณแม่ให้ลูกกินแป้งสาลีเร็วเกินไป อาจกระตุ้นให้เด็กเกิดปฏิกิริยาแพ้อาหารได้ ดังนั้นจึงไม่ควรให้ลูกกินอาหารใดๆ ที่ทำจากแป้งสาลี จนกว่าเจ้าตัวเล็กจะอายุครบ 1 ขวบ จะปลอดภัยที่สุดค่ะ *หากคนในครอบครัวมีประวัติแพ้กลูเต็น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ลูกกินแป้งด้วยค่ะ เพื่อความชัวร์*
หวังว่าคุณแม่ทุกคน จะได้ความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับเจ้าตัวน้อย เพิ่มมากขึ้นนะคะ อาหารสำหรับเด็กเล็กมีความละเอียดอ่อนมากๆ บางชนิดก็ไม่เหมาะกับภูมิต้านทาน หรือพัฒนาการของเด็กเล็ก หรือบางชนิดหากให้กินเร็วเกินไป ก็เสี่ยงต่อการกระตุ้นโรคภูมิแพ้ได้ คุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อสุขภาพดีของลูกรัก ❤ วันนี้พี่วาฬคูมุขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ ^^
