top of page
  • Writer's pictureKuu-Mu

5 ขั้นตอนทำแผลเจ้าตัวน้อย

Updated: May 2, 2018



คุณพ่อคุณแม่คงจะเคยมีประสบการณ์ที่ลูกน้อยจอมซน วิ่งเล่นจนหัวคะมำ ข้อศอกเอย เข่าเอย ถลอกปอกเปิกไปหมด วันนี้ทางทีมงานคูมุ ขอนำเสนอ 5 ขั้นตอนในการทำแผลเบื้องต้นที่เป็นบาดแผลเล็ก บาดแผลถลอก ให้กับเจ้าตัวน้อยกันค่ะ




ขั้นตอนที่ 1: “ล้างแผล” การล้างแผลที่ดี แนะนำให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซึ่งไม่แสบและระคายเคือง เพราะน้ำเกลือที่มีขายทั่วไป มีความเข้มข้นที่เหมาะสม (0.9%) เท่ากับความเข้มข้นของสารน้ำในเซลล์ของร่างกายทำให้สามารถชำระล้างสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ที่ผิวออกได้ โดยไม่แสบและระคายเคือง น้ำเกลือไม่ใช่แค่นำเกลือมาละลายน้ำเฉยๆ แต่ต้องใช้ปริมาณเกลือและน้ำในขนาดที่เหมาะสมที่ทำให้ความเข้มข้นเท่ากับ 0.9% และต้องทำในสภาวะที่ปราศจากเชื้อ ดังนั้นโดยทั่วไปไม่แนะนำให้ใช้เกลือทำกับข้าวมาผสมน้ำล้างแผลนะคะ เพราะคำนึงเรื่องความสะอาดสำคัญที่สุด และความเข้มข้นก็อาจไม่ตรงกับที่ต้องการทำให้เวลาล้างแผลจะแสบได้ค่ะ


ขั้นตอนที่ 2: “กดห้ามเลือด” นำผ้าก๊อซที่ใหม่และสะอาดกดห้ามเลือดจนเลือดหยุดไหล ทั้งนี้สามารถยกส่วนที่เป็นแผลให้สูงขึ้นเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้นค่ะ อย่างไรก็ตามหากกดแผลไว้สักพักแล้ว เลือดไม่หยุดไหลเลยให้รีบไปสถานพยาบาลเพื่อทำแผลตามความเหมาะสมต่อไปค่ะ







ขั้นตอนที่ 3: “เช็ดรอบ” ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดที่ผิวหนังบริเวณรอบๆบาดแผลเพื่อกำจัดเชื้อโรคที่เกาะอยู่บริเวณรอบออกไป ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าไปที่ตัวแผล ข้อควรระวังคือการเช็ดให้เช็ดบริเวณรอบๆบาดแผลเท่านั้นในส่วนที่เป็นผิวหนังปกติ ห้ามเช็ดที่ตัวบาดแผลโดยตรง และห้ามเทราดแอลกอฮอล์ลงบนบาดแผล เพราะการที่แอลกอฮอล์โดนตัวแผลโดยตรงจะทำให้แสบ และมีผลให้แผลหายช้าลงจากการที่แอลกอฮอล์ไปทำลายโปรตีนในเนื้อเยื่อ





ขั้นตอนที่ 4: “ใส่ยา” ยาใส่แผลที่มีขายอยู่ในปัจจุบันมีหลายตัว แต่ตัวที่นิยม ไม่แสบผิวเหมือนยารุ่นเก่าๆ และมีประสิทธิภาพดีในการกำจัดเชื้อโรค ชื่อตัวยา โพวิโดน ไอโอดีน มีหลายยี่ห้อ มีขายตามร้านยาทั่วไปค่ะ บางคนเข้าใจผิดคิดว่าถ้าใส่ยาแล้วแสบจะฆ่าเชื้อได้ดีกว่า หรือใส่ยาแล้วมีฟองฟู่จะสามารถกำจัดเชื้อได้ดีกว่า อันนี้ไม่จริงนะคะ ยาใส่แผลรุ่นใหม่ๆถูกพัฒนาให้สามารถกำจัดเชื้อโรคได้ดี โดยที่ใช้แล้วไม่แสบเท่ายารุ่นเก่าค่ะ สำหรับการทายา แนะนำให้ใช้สำลีพันก้านชุบน้ำยาใส่แผล แล้วทาบางๆ บนแผลให้เหมือนเป็นฟิล์มบางๆเคลือบอยู่บนแผลไว้ ไม่ใส่น้ำยาให้ชุ่มขังบนแผลค่ะ




ขั้นตอนที่ 5: “ปิดแผล” หากแผลมีขนาดเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องปิดแผล แต่หากแผลมีขนาดกว้างขึ้นมาหน่อย ให้ปิดแผลด้วยเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่อาจเข้าไปที่แผลได้ ก่อนที่จะปิดแผลอาจใช้ ตาข่ายชุบยาฆ่าเชื้อ วางไปบนแผลก่อนได้ ซึ่งตาข่ายนี้จะช่วยกันไม่ให้ผ้าก๊อซติดกับบาดแผล เวลาลอกออกจะได้ไม่เจ็บ อีกทั้งยังชุบยาฆ่าเชื้อไว้ด้วยป้องกันการติดเชื้ออีกต่อหนึ่ง จากนั้นให้ปิดแผลโดยใช้ผ้าก๊อซที่ใหม่และสะอาดปิดแผล และใช้พลาสเตอร์ติดโดยรอบ การเปลี่ยนผ้าก๊อซควรทำทุกวันเพื่อความสะอาดของแผลและลดความอับชื้น


ถึงตอนนี้ก็ครบเรียบร้อยกับ 5 ขั้นตอนในการดูแลรักษาแผลเบื้องต้นให้กับเจ้าตัวน้อย อย่างไรก็ตามวิธีที่พูดถึงนี้เหมาะกับลักษณะแผลที่ไม่ใหญ่มาก ไม่ได้เป็นแผลลึก แต่หากเป็นแผลที่เลือดไม่หยุดไหล แผลลึก เป็นบริเวณกว้างมาก หรือ มีสิ่งแปลกปลอมทิ่มอยู่ในตัวบาดแผล แนะนำว่ายังไงก็ควรไปสถานพยาบาลเพื่อรับการดูแลที่เหมาะสมต่อไปนะคะ ทางทีมงามคูมุ ขอขอบคุณที่ติดตามค่า แล้วพบกันใหม่ค่า^^

#คูมุทิชชู่เปียกน้ำเกลือ

#ของใช้เด็กที่คุณแม่ต้องมี

#การทำแผลเด็ก

bottom of page